วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558

พัฒนาการด้านอารมณ์

พัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็กประถม

พัฒนาการด้านอารมณ์วัยประถมต้นสำคัญอย่างไร?

เด็กวัยประถมต้น เรียนรู้ และรู้จักอารมณ์ทุกอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความวิตกกังวล ความโกรธ ความสนุก ความสุข ความเบิกบาน ความสำคัญอยู่ที่ผู้ใหญ่รอบตัวได้ชี้ให้เด็กเห็นถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคล มองข้ามความไม่ถูกใจ ชี้ให้ เห็นข้อดีของคนอื่น และมีการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม เรียนรู้เรื่องความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้จักแพ้ รู้จักผิดหวัง และรู้จักพยายามทำใหม่ในครั้งต่อไป การเตรียมตัวลูกให้ปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีแนวทางที่ถูกต้องในการพัฒนาชีวิตให้พ้นจากความทุกข์ และเข้าถึงความสุขที่แท้จริง นั่นคือความฉลาดในการเกิดเป็นมนุษย์
คนเรามีโอกาสที่จะฉลาดอยู่ตลอดเวลา แม้ในโอกาสที่มีการกระทบกระทั่ง เกิดความกดดัน มีสิ่งคุกคาม ถ้าเด็กเป็นนักศึกษาเรียนรู้ชีวิต พร้อมที่จะเรียนรู้ทบทวนจากประสบการณ์ในอดีต เพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและมีความสุขได้ในอนาคต แล้วเป็นความสุขที่ประกอบด้วยความฉลาด รู้อะไรควร-ไม่ควร สามารถปล่อยวางสิ่งที่ไร้แก่นสาระ ไม่หวั่นไหวตามการแปรปรวนของสิ่งภายนอก ทำยากแต่ไม่เหลือวิสัย จะทำให้สามารถประสบความสำเร็จในการปฏิบัติเพื่อพัฒนากาย วาจา ใจ ให้มีคุณภาพ ทำหน้าที่ต่างๆด้วยจิตใจที่ไม่เศร้าหมอง ไม่หวั่นไหว มีความสุข สะอาด สดชื่น และมีความคิดที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ชีวิตของเด็กได้

เด็กวัยประถมต้นมีสมรรถนะและพัฒนาการด้านอารมณ์อย่างไร?

วัยประถมต้นเป็นช่วงเวลาที่เด็กถูกคาดหวังให้มีความรู้เบื้องต้นที่จำเป็นต่อการปรับตัวในชีวิตตอนเป็นผู้ใหญ่ และเรียนรู้ทักษะที่สำคัญบางอย่าง ทั้งในหลักสูตรและนอกหลักสูตรของโรงเรียน ดังนั้นพัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็กวัยนี้จึงมีทั้งความสุขและความทุกข์เกิดขึ้น ดังนี้
  • มีความสุข ร่าเริง ปิติเบิกบาน เด็กวัยประถมต้นเป็นวัยที่มีความสุข มีความพึงพอใจเกี่ยวกับวัยของตนอย่างมาก มีความสนุกสนานในการเล่น เพราะใช้เวลาส่วนมากอยู่กับเพื่อน เริ่มเรียนรู้ที่จะให้ความร่วมมือ รู้จักให้และรับ หากถามผู้ ใหญ่ว่าวัยไหนเป็นวัยที่มีความสุขที่สุด ส่วนมากจะตอบว่าวัยประถม ผู้ใหญ่บางคนสามารถเล่าเหตุการณ์และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในวัยนี้ได้เป็นอย่างดี จึงไม่ยากนักที่ผู้ใหญ่รอบตัวจะช่วยให้เด็กวัยนี้มีความสุข
  • มีความกลัวต่างๆ เช่น กลัวสัตว์ กลัวงู กลัวความมืด กลัวที่สูง กลัวฟ้าผ่า ฟ้าร้อง แต่สิ่งที่กลัวที่สุดก็คือ กลัวถูกล้อ เพราะมีความแตกต่างกับเพื่อน นอกจากความกลัว ยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเรียน กลัวว่าจะสอบไม่ได้ กลัวถูกทำโทษ หรือกลัวเพื่อนไม่ชอบ เด็กบางคนจึงมีอาการเศร้าซึม ไม่ตั้งใจเรียน หลับในห้องเรียน อยู่ไม่นิ่ง มีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หรือแสดงพฤติกรรมที่น่าแปลกใจ
  • มีอารมณ์โกรธ อาจจะมีการแสดงออกทางอารมณ์แตกต่างกันระหว่างเด็กหญิงและเด็กชาย มีทั้งการทำร้ายร่างกาย ต่อ สู้กันด้วยวาจา ล้อ ตั้งสมญา พูดถากถาง ขู่ หรือไม่พูดด้วย หากเด็กแสดงความโกรธ ด้วยการทำร้ายผู้อื่น ผู้ใหญ่ควรอธิบายให้เด็กเข้าใจพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม และหาตัวอย่างเพื่อนในวัยเดียวกันที่มีพฤติกรรมที่ดี ที่จะเป็นตัวอย่างได้ ผู้ใหญ่ควรชมเชยที่เด็กสามารถระงับความโกรธและแสดงออกในทางที่เหมาะสม การลงโทษเด็กด้วยการตีหรือทำให้เจ็บ เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะไม่แก้ไขพฤติกรรมที่ก้าวร้าวนั้น ยังเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากยิ่งขึ้น

พ่อแม่ ผู้ปกครองจะจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ให้ลูกวัยประถมต้นได้อย่างไร?

การเลี้ยงลูกวัยประถมต้นให้มีจิตใจร่าเริง มุ่งมั่นในการทำดีเพื่อส่วนรวม รักใคร่สามัคคี และมีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ของพ่อแม่และมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของเด็กในทุกด้าน สิ่งที่พ่อแม่ควรพิจารณาในการเลี้ยงลูก เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จด้านอารมณ์และจิตใจ มีแนวทางดังนี้
  • ฝึกทักษะต่างๆที่สำคัญในการดำรงชีวิตให้แก่ลูก ได้แก่ ทักษะพื้นฐานในกิจวัตรประจำวัน เช่น การช่วยเหลือตัว เอง การทำอาหาร ทำงานบ้าน การดูแลทรัพย์สินของตัวเองและส่วนรวม ทักษะในการเข้าสังคม เช่น การควบคุมอารมณ์ การปรับตัวและการแสดงออกที่เหมาะสม การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ความมีน้ำใจ ช่วยเหลือดูแลผู้อื่น ด้านระเบียบวินัย ควรให้ลูกมีส่วนร่วมสร้างกติกากับตนเอง เพราะจะเป็นการฝึกให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง มีระเบียบวินัยจากภายใน ซึ่งจะเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตต่อไป หลังจากนี้พ่อแม่จะเหนื่อยน้อยลง ไม่ต้องไปสร้างระเบียบวินัยจากภายนอก
  • ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองและรับผิดชอบในเรื่องส่วนตัว พอขึ้นชั้นประถม สภาพแวดล้อมใหม่และใหญ่กว่าเดิม เพื่อนใหม่ที่ยังไม่รู้จักรู้ใจ คุณครูแปลกหน้า ที่เอาจริงกับการสอน กฎระเบียบใหม่ ตารางสอน กำหนดเวลา ข้อห้าม การถูกจำกัดขอบเขต ให้นั่งอยู่ที่โต๊ะของตัวเอง ไปจนถึงกิจวัตรประจำวัน ที่ต้องกลับบ้านช้ากว่าเดิม ต้องจัดสรรเวลาสำหรับทำการบ้าน จัดตารางสอน ฯลฯ จึงส่งผลต่ออารมณ์ของเด็ก ที่อาจเครียดหรือวิตกกังวลได้
  • ฝึกบริหารเวลา ให้อยู่ในกติกา และฝึกทักษะการแก้ปัญหาง่ายๆ ทำให้ลูกเกิดความภูมิใจในตนเอง
  • กิจกรรมที่เด็กสามารถช่วยเหลืองานส่วนรวม เช่น งานบ้าน จัดโต๊ะอาหาร กวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างถ้วยชาม เก็บโต๊ะกินข้าว รวมถึงงานส่วนรวมในห้องเรียน นอกจากจะพัฒนาความรับผิดชอบ ความช่างสังเกต ความละเอียดรอบคอบแล้ว ยังฝึกความมีน้ำใจเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่น การที่ทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ เด็กจะซึมซับการกระทำ วิธีคิด ค่านิยม ทัศนคติ และเป็นการถ่ายทอดเทคนิคได้โดยไม่รู้ตัว
  • พ่อแม่สอนลูกด้วยความรักและเข้าใจกัน สนใจฟังลูก ชื่นชมให้กำลังใจ เข้าใจธรรมชาติของลูก พร้อมทั้งฝึกทักษะต่างๆที่สำคัญในการดำรงชีวิตให้กับลูก ทั้งทักษะพื้นฐานในกิจวัตรประจำวัน ทักษะในการเข้าสังคม และทักษะด้านความปลอดภัย
  • บรรยากาศในบ้าน เป็นแบบสบายๆ พูดคุยกันในแง่ดีเสมอ ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยอมรับฟังความคิดเห็น มีการพูดกันชัด เจน และทำตามได้
  • พ่อแม่ให้ความสำคัญกับความตั้งใจ ความอดทน และความรับผิดชอบของลูก แสดงชัดเจนว่า ความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ ให้โอกาสลูกคิด เลือก และหัดตัดสินใจ ขณะเดียวกันลูกมีความอดทนและเรียนรู้ที่จะรอคอย
  • ลูกมีความภูมิใจที่มีพ่อแม่ที่เข้าใจ รักและให้กำลังใจ ให้เวลากับลูก รับรู้ว่าพ่อแม่รักและเชื่อมั่นในความสามารถของลูก ลูกได้ฝึกฝน ควบคุมอารมณ์ รู้จักตัวเอง มองเห็นความสามารถในตัวเอง สามารถเรียนรู้และพัฒนาความสามารถด้านต่างๆตลอดเวลา ลูกมีบุคลิกภาพที่ดี มีความภูมิใจในตัวเอง รู้สึกดีต่อตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเอง ขณะเดียวกันมองเห็นจุด อ่อนจุดแข็งในตัว รวมทั้งฝึกฝนตัวเองเป็น

ประเมินพัฒนาการด้านอารมณ์ของลูกวัยประถมต้นได้อย่างไร? 

พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถประเมินพัฒนาการด้านอารมณ์ของลูกได้ ดังนี้
อายุ 6 ขวบ
  • มีความสนใจในกิจกรรมและงานของตนเองยาวนานขึ้น
  • มีความกระตือรือร้นและสนใจของแปลกๆใหม่ๆ
  • ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านภาพวาดได้
อายุ 7 ขวบ
  • เข้าใจเรื่องเหตุและผลมากขึ้น
  • มีความอยากรู้อยากเห็น
  • เมื่อสนใจสิ่งใดแล้วจะพยายามทำให้สำเร็จ
  • มีความสนใจยาวนานขึ้น
  • สามารถจดจำระยะเวลาหรืออดีตและปัจจุบันได้
อายุ 8 ขวบ
  • เริ่มแยกแยะการเล่นตามเพศ เช่น เด็กผู้ชายอาจจะเลียนแบบทหาร ส่วนเด็กผู้หญิงจะเล่นสมมุติ ร้อยลูกปัด วาดรูป และการอ่านนิทาน
  • สนใจและจดจ่อกับงานที่ได้รับมอบหมายและทำจนสำเร็จ
  • เข้าใจคำสั่งและหวังให้ชิ้นงานทำคะแนนได้ดีกว่าเดิม
อายุ 9 ขวบ
  • ใช้ภาษาที่ซับซ้อนขึ้น
  • สนใจและมีความรู้รอบตัว
  • รู้จักถามตอบอย่างมีเหตุผล
  • สามารถหาคำตอบเองได้จากการสังเกต
  • เลียนแบบการกระทำของเด็กที่โตกว่า
  • ต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
  • มีของสะสมส่วนตัว

เกร็ดความรู้เพื่อครู

โรงเรียนมีอิทธิพลต่อพัฒนาการทุกด้านของเด็กประถม โรงเรียนที่มีคุณภาพในการพัฒนาเด็ก จะประกอบด้วยครูที่มีภาวะผู้ นำ อบอุ่น เป็นกันเอง ยุติธรรม แต่ชัดเจนในกฎเกณฑ์ ไม่มีลักษณะเข้มงวดกดขี่ มีความสามารถในการคิด ตัดสินใจ มองการณ์ไกล และมีความเชื่อมั่นในความสามารถในตัวเด็ก และตรวจสอบความก้าวหน้าของเด็กสม่ำเสมอ นอกเหนือจากด้านการเรียน เด็กควรได้รับการฝึกฝนการเล่น การอยู่รวมกับเพื่อนและครู งานศิลปะ คนตรี ฯลฯ ความสามารถเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการได้รับการยอมรับจากครูและเพื่อน เป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเอง
ครูควรประสานความเข้าใจในทิศทางพัฒนาเด็กวัยเรียนระหว่างบ้านและโรงเรียน แลกเปลี่ยนข้อมูลพฤติกรรมของเด็กระหว่างอยู่ที่บ้านกับโรงเรียน เพื่อพ่อแม่และครูเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน จะได้ส่งเสริมการเรียนของลูกได้อย่างถูกต้องและปรับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม มีระบบคัดกรองเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมหรืออารมณ์ และมีทีมนักจิตวิทยาโรงเรียนประเมินผล หาสาเหตุ ส่งต่อ ติดตามผลการให้ความช่วยเหลือ จะช่วยทำให้โรงเรียนสามารถพัฒนาเด็กได้เพิ่มขึ้น
ครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เสริมสร้างลักษณะที่สำคัญของการเป็นนักเรียนรู้ ให้เกิดในตัวเด็ก ตั้งใจฝึกฝนเด็กและเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเด็ก ครูอธิบายสิ่งที่ให้เด็กทำชัดเจน บอกถึงผลที่ได้รับเมื่อเด็กไม่ทำชัดเจนเช่นเดียวกัน ฝึกผ่านการทำ งาน จากงานที่ง่ายไปสู่งานที่ยาก ฝึกผ่านกิจวัตรประจำวัน ทั้งงานส่วนตัวและส่วนรวม ฝึกหัดให้ทำสิ่งต่างๆ ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ ให้โอกาสหัดทำ ให้ซ้ำๆ บ่อยๆ จนชำนาญและคล่อง ชื่นชมเมื่อทำได้ ให้กำลังใจ ชี้แนะ สนับสนุนให้ทำต่อไป ฝึก ฝนสม่ำเสมอ เมื่อทำได้ไม่ดีหรือทำยังไม่ได้ และให้เวลาจนเด็กสามารถทำงานนั้นสำเร็จลุล่วงได้ ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น มีความอดทนและรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา มองโลกในแง่ดี เป็นตัวของตัวเอง มีนิสัยที่ทำอะไรจนสำเร็จ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะที่สำคัญของการเป็นนักเรียนรู้ เมื่อเด็กวัยประถมต้นสามารถปรับตัวในทางที่ถูกต้องเหมาะสม สามารถใช้ชีวิตในวัยเด็กอย่างมีความสุข จะทำให้เด็กพัฒนาความมั่นใจในตนเองและนำไปสู่ภาพลักษณ์แห่งตนในที่สุด ซึ่งจะเป็นรากฐานที่ดี ที่จะให้เด็กมีการพัฒนาไปสู่วัยรุ่นด้วยดีต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น